วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สัญญาซื้อขาย

สวัสดีค่ะ...วันนี้รินทร์มีเรื่องของสัญญาซื้อขายมาฝาก เรามาเริ่มจากการทำความเข้าใจกับลักษณะของสัญญาซื้อขายกันก่อนนะค่ะ

     สัญญาซื้อขาย(ปพพ.มาตรา  453)

     สัญญาซื้อขาย คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ  และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

     ลักษณะของสัญญาซื้อขาย
สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย ดังนั้น  หากสัญญาที่ทำขึ้นผู้กระทำไม่มีเจตนาจะโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินย่อมไม่ใช่สัญญาซื้อขายตามมาตรา 453
     เช่น เราไปซื้อตั๋วดูหนัง จ่ายเงิน 120 บาท ได้ตั๋วสำหรับดูหนังมา 1 ใบ  สัญญาที่เราทำนั้นไม่ใช่สัญญาซื้อขาย เพราะสัญญาซื้อขายคือสัญญาซึ่งผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาให้แก่ผู้ขาย ( ปพพ.มาตรา 453) การที่เราไปซื้อตั๋วดูหนังนั้นไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้ต้องการกรรมสิทธิ์ในตั๋วฯ และไม่ได้ต้องการกรรมสิทธิ์ในหนัง ส่วนการจ่ายเงิน 120 บาท ก็ไม่ใช่ราคาหนัง(ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน) แต่จริงๆ แล้วสัญญาที่เราทำนั้นเป็นสัญญาจ้างทำของ เพราะสัญญาจ้างทำของคือสัญญาซึ่งผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น (ปพพ.มาตรา 587 ) การที่เราไปซื้อตั๋วดูหนังก็คือเราไปจ้างให้เขาฉายหนังให้เราดู และราคาค่าตั๋วหนังที่จ่ายไป 120 บาท ก็คือค่าจ้างฉายหนัง ตั๋วหนังที่เรารับมาก็คือใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานว่าเราจ่ายเงินแล้วนั่นเอง  
     หรือ  ซื้อเวลาออกอากาศสถานีวิทยุกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ แม้จะเรียกว่าซื้อเวลาออกอากาศฯ แต่ก็ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย เพราะไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แต่เป็นสัญญาที่ตกลงให้บริการออกอากาศกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ตามเวลาที่ตกลงกันโดยมีค่าตอบแทน (ฎ. 203/2539) เป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่ง
     สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่มีค่าตอบแทนและเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งเช่นกัน  ซึ่งผู้ขายและผู้ซื้อต่างมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและกัน คือ ผู้ขายมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ  และผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องใช้ราคาทรัพย์สินให้แก่ผู้ขายตามที่ตกลงกัน  ทั้งนี้ผู้ซื้อหรือผู้ขายจะบอกเลิกสัญญาโดยไม่เหตุตามที่ระบุไว้ในข้อสัญญาตามที่ตกลงกันหรือตามที่กฎหมายกำหนดไม่ได้


     แม้สัญญาซื้อขายจะมีลักษณะสำคัญ คือ การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ อันเป็นการแสดงว่าผู้ขายนั้นต้องมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นก็ตาม  แต่หากเป็นการทำสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายกันในภายหน้าหรือเป็นการทำสัญญาจะซื้อจะขาย กรณีเช่นนี้แม้ผู้ขายไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขาย สัญญาดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับกันได้

     ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกันว่าสัญญาซื้อขายมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทแต่งต่างกันอย่างไร ในตอนหน้านะค่ะ ส่วนวันนี้คงต้องบ๊ายบายก่อน แต่หากใครมีปัญหาอะไรหรือต้องการปรึกษาเรื่องอื่นก็เมลล์มาได้ที่  rintr2012@gmail.com  หรือโทรตรงมาที่  089-245 3659 ..รินทร์